Description
กรดเกลือ หรือ กรดไฮโดรคลอริก ความเข้มข้น 35% มีสูตรเคมีคือ HCl เป็นกรดที่มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูง เป็นอันตรายหากสัมผัสกับผิวหนัง มีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งแก๊สและของเหลว กรดเกลือ จัดเป็นกรดแก่ มีการใช้งานกันมากในหลากหลายอุตสาหกรรม สามารถใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีอื่น ใช้ปรับค่า pH ได้เนื่องจากกรดเกลือมีความเป็นกรดสูง ใช้กัดผิว และทำความสะอาดผิวโลหะ ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง สารทำความสะอาดบ้าน
ข้อมูลความอันตราย
- ระเบิดได้ เมื่อทำปฏิกิริยากับโลหะหรือสารอื่นจะทำให้เกิดควันที่เป็นพิษของก๊าซ Hydrogen chloride และเกิดปฏิกิริยาที่มีความไวกับไฟหรือเกิดระเบิดได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับด่าง โลหะกลุ่มอัลคาไล ทองแดง อัลลอยด์ของทองแดง อลูมิเนียม เหล็ก
- ทำปฏิกิริยารุนแรง หากกรดมีความเข้มข้นสูงมีการสัมผัสกับน้ำโดยตรง
- มีความเป็นพิษสูง ควันและไอจะระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุอ่อน และทางเดินหายใจ มีฤทธิ์กัดกร่อนสูงมาก
- ผิวหนัง เมื่อได้รับพิษจากกรดเกลือโดยการสัมผัสบริเวณผิวหนังในปริมาณน้อย จะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบและระคายเคือง แต่ในกรณีที่สัมผัสในปริมาณมาก จะทำให้เกิดแผลลึกคล้ายแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาจจะเกิดแผลที่เยื่อบุซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนได้
- พิษต่อตา ไอระเหยของไฮโดรเจนคลอไรด์หรือกรดเกลือ จะทำให้เลนต์ตาเกิดเป็นต้อกระจก เซลล์กระจกตาตาย และความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นจนเป็นต้อหินได้ กรณีที่สัมผัสกับสารละลายที่เจือจาง จะเกิดแผลที่กระจกตาด้านนอก
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ เมื่อสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองลำคอ จมูกและเยื่อบุทางเดินหายใจ ถ้าสูดดมมากไปอาการจะรุนแรง จะหายใจไม่ทัน ทำให้เนื้อเยื่อบุทางเดินหายใจบวมจนอุดตันทางเดินหายใจ เนื่องจากภาวะอุดกั้นหลอมลมขนาดเล็ก บางรายอาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำซึ่งอันตรายอย่างมาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคลื่นใส้ อาเจียน กลืนลำบาก การได้รับพิษโดยการกินกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น จะทำให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเกิดเป็นแผล ภายในมีเลือดออก จนกระทั้งแผลอาจทะลุได้ ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญสารอาหารมากกว่าปกติ ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อได้รับพิษจากการกินหรือสัมผัสในปริมาณสูง ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร และระบบสมดุลน้ำ ของเหลวในร่างกายเสียไป ทำให้ปอดทำหน้าที่ผิดปกติ
ข้อแนะนำ และแนวทางปฏิบัติ
- ห้ามสัมผัสกับกรดเกลือโดยตรง
- ควรจัดให้มีอุปกรณ์ชำระล้าง เช่น อ่างล้างหน้า ในสถานที่ปฏิบัติงาน
- ควรสวมถุงมือกันสารเคมี แว่นครอบตา สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และสวมเครื่องป้องกันกรองอากาศด้วย
- ปิดฝาภาชนะให้แน่นหลังเลิกใช้ เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ระวังอาจเกิดแรงดันในภาชนะได้
- ถ้าสัมผัสถูกกรดเกลือให้เปิดน้ำล้างบริเวณที่สัมผัสถูก เช่น ตา ผิวหนัง ด้วยน้ำปริมาณมากๆ โดยเฉพาะบริเวณดวงตา เพื่อความแน่ใจว่าล้างสารพิษออกหมด ให้ใช้นิ้วมือดึงหนังตา เปิดล้างด้วยน้ำสะอาดด้วย กรณีกรดเกลือสัมผัสกับเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกด้วย
- ถ้าสูดหายใจกรดเกลือเข้าไป ให้นำผู้ป่วยออกมาในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าเกิดหายใจติดขัดต้องรีบให้ออกซิเจน
- ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ ให้รีบทำการช่วยหายใจ
- ถ้ารับประทานกรดเกลือเข้าไป ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามมากๆ
- รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์